การสอนแบบสาธิต(Demonstration Method)
การสอนแบบสาธิต(Demonstration Method)
ความหมายของการสาธิต การสาธิต หมายถึง การทำให้ดูเป็นตัวอย่าง หรือการแสดง หรือการกระทำสิ่งต่างๆให้ผู้เรียนดู
วิธีการสอนแบบสาธิต ครูมีหน้าที่ในการวางแผนการเรียนการสอนเป็นส่วนใหญ่ โดยมีการแสดงหรือการกระทำให้ดูเป็นตัวอย่าง นักเรียนจะเกิดการเรียนรู้จากการสังเกต การฟัง การกระทำหรือการแสดง
การสอนแบบบทบาทสมมติ (Role playing Method )
เป็นเทคนิคการสอนรูปแบบหนึ่งที่ช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจบทบาท สภาพความเป็นจริงจากสิ่งที่เกิดขึ้น ผ่านการแสดงออกต่าง ๆ ซึ่งเทคนิคการสอนรูปแบบนี้ นับว่าเป็นการสอนที่สนับสนุนให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมและได้ลงมือปฏิบัติร่วมกันระหว่างผู้เรียน ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการเรียนรู้สมัยใหม่ ที่มุ่งเน้นตัวผู้เรียนเป็นสำคัญ
การเรียนรู้ด้วยการปฏิบัติจริง (Learning by Doing)
การเรียนรู้โดยการลงมือทำเป็นแนวคิดหรือความเชื่อที่สนับสนุนให้คนเราปฏิบัติสิ่งต่างๆด้วยตนเองตามความสนใจ ตามความถนัดและศักยภาพ ด้วยการศึกษา ค้นคว้า ฝึกปฏิบัติ ฝึกทักษะจนถึงการเรียนรู้ด้วยตนเอง เพราะเชื่อว่าหากคนเราได้กระทำจะทำให้เกิดความเชื่อมั่นเป็นแรงจูงใจให้เกิดการใฝ่รู้ ใฝ่เรียน ผู้เรียนจะสนุกสนานที่จะสืบค้นหาความรู้ต่อไป มีความสุขที่จะเรียน
การเรียนรู้แบบร่วมมือ (Collaborative Learning)
เป็นวิธีการเรียนที่ทำให้ผู้เรียนให้ความร่วมมือ ในการทำงานเป็นกลุ่มเพื่อศึกษาในสิ่งที่สนใจเหมือนกัน โดยการสร้างชิ้นงานหรือทำโครงงานแล้ว นำเสนอข้อมูลความรู้ที่ได้จากการศึกษาร่วมมือ ผู้เรียนในแต่ละกลุ่มศึกษาและสร้างความรู้ร่วมกัน โดย ใช้เทคโนโลยีในการเรียนรู้ การนำเสนอข้อมูลความรู้ การเรียนรู้แบบนี้จะสร้างความสัมพันธ์ภายในกลุ่ม ซึ่งเกิดขึ้นจากการสร้างงานที่ต้องอาศัยความช่วยเหลือจากบุคคลต่างๆรอบข้างเพื่อให้งานสำเร็จ
วิธีการสอนแบบบรรยายโดยใช้สื่อ (Lecture media Method)
วิธีการสอนแบบบรรยายโดยใช้สื่อ ผู้สอนเป็นฝ่ายบอกเล่า อธิบาย หรือถ่ายทอดความรู้ให้กับผู้เรียนในรูปของคำพูดประกอบสื่อการสอนที่ได้จัดเตรียมไว้ โดยผู้สอนจะเป็นผู้ค้นคว้าหาความรู้มาให้นักเรียน เพื่ออธิบายให้ผู้เรียนฟังโดยเฉพาะ ผู้เรียนจึงเป็นฝ่ายที่จะได้รับข้อมูลจากเนื้อหาในบทเรียนเพียงอย่างเดียว ผู้เรียนจะต้องใช้การฟัง การวิเคราะห์ การจดจำเนื้อหาสาระ หรือจดบันทึกจากสิ่งที่ผู้สอนได้อธิบายไว้
การเรียนรู้แบบบูรณาการ ( Learning Integration)
การเรียนรู้แบบบูรณาการ เป็นการจัดการเรียนรู้โดยการเชื่อมโยงเนื้อหาความรู้ที่เกี่ยวข้องจากศาสตร์ต่างๆ ของรายวิชาเดียวกันหรือรายวิชาต่างๆ มาใช้ในการจัดการเรียนรู้เพื่อให้ผู้เรียนสามารถนำความคิดรวบยอดของศาสตร์ต่างๆ มาใช้ในชีวิตจริงได้
การเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐาน (Project-based Learning)
เป็นเทคนิคการสอนที่กระตุ้นให้ผู้เรียนทำงานร่วมกับผู้อื่นและเรียนรู้ด้วยการลงมือปฏิบัติกระทั่งได้คำตอบที่ผู้เรียนอยากรู้หรือสงสัย สนับสนุนให้ผู้เรียนเชื่อมโยงประสบการณ์เดิมกับสิ่งที่กำลังเรียนรู้ และบูรณาการความรู้จากศาสตร์ต่างๆ กับชีวิตจริง เพื่อสังเคราะห์เป็นองค์ความรู้ของตนเองจากรูปธรรมเป็นนามธรรม ซึ่งอาจเป็นองค์ความรู้ที่เหมือนหรือต่างจากที่ผู้เรียนได้เรียนรู้ในห้องเรียน ทั้งนี้การเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐานยังกระตุ้นให้ผู้เรียนคิดสร้างสรรค์ คิดแก้ปัญหา คิดวิพากษ์ และคิดรับผิดชอบต่อความสำเร็จของส่วนรวม